Regenerative Agriculture

อะไรคือการเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture)?


"ไร้ซึ่งชีวิตหากไร้ดิน ไร้ซึ่งดินหากไร้ชีวิต ดินและชีวิตวิวัฒน์ร่วมกัน"

--Charles E. Kellogg, USDA Yearbook of Agriculture, 1938


การเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดินคือวิธีการทำการเกษตรที่ “เน้นการบำรุงฟื้นฟูทรัพยากรมากกว่าการทำลายหรือใช้ให้หมดสิ้นไป”-- แปลตามคำนิยามจากสถาบัน Rodale --


Regenerative Agriculture เป็นแนวทางจัดการผืนดินเพื่อการเกษตรแบบองค์รวม โดยใช้ประโยชน์จากพลังการสังเคราะห์แสงในพืชเพื่อสร้างสมดุลย์ของวงจรของคาร์บอน เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน และสร้างความต้านทานและความหนาแน่นของแร่ธาตุสารอาหารในพืช Regenerative Agriculture เน้นการฟื้นฟูบำรุงสุขภาพของดินโดยใช้หลักการเพิ่มสสารอินทรียวัตถุในดินเป็นหลัก เพื่อปรับสภาพและโครงสร้างให้กลับคืนมาหลังจากที่ดินถูกคุกคาม ผลที่ได้คือความหลากหลายทางชีวภาพทั้งด้านบนและด้านล่างของผิวดิน เพิ่มความสามารถของดินในการกักเก็บน้ำ และกักเก็บคาร์บอนในระดับที่มากขึ้นเพื่อลดระดับ CO2 ในชั้นบรรยากาศที่กำลังเสียสมดุลย์


การเกษตรอุตสาหกรรมแบบที่ปฏิบัติกันทั่วไปมุ่งใช้ทรัพยากรดินให้หมดไปและนำสารเคมีมาใช้ (Degenerative Agriculture) ในขณะที่การเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture) เน้นการฟื้นฟูบำรุงสภาพดิน ซึ่งเป็นการพลิกกระบวนทัศน์ทางการเกษตรเพื่ออนาคตของทุกชีวิตบนโลกใบนี้รวมทั้งมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

"หากคุณดูแลดิน ดินก็จะดูแลคุณ"




ทำไมต้องมุ่งการเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน (Regenerative Agriculture)?


เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าในอนาคต - "คืนความหนาแน่นของแร่ธาตุสารอาหารให้กับอาหาร"


ความเสียสมดุลย์ของดินส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ระดับของแร่ธาตุสารอาหารทุกชนิดในอาหารเกือบทุกประเภทลดลงระหว่าง 10 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ คนในปัจจุบันจะต้องกินเนื้อสัตว์มากเป็นสองเท่าผลไม้สามเท่าและผักให้มากขึ้นสี่ถึงห้าเท่าเพื่อให้ได้แร่ธาตุและธาตุในปริมาณเท่าๆ กันที่มีอยู่ในอาหารชนิดเดียวกันเทียบกับเมื่อ 80 ปีที่แล้ว


ดร.เดวิด โธมัสได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบในอาหาร โดยผลการวิจัยถูกเผยแพร่โดยสภาวิจัยทางการแพทย์ของออสเตรเลีย กระทรวงเกษตร กระทรวงการประมงและอาหาร และสำนักงานมาตรฐานอาหาร จากการเปรียบเทียบข้อมูลที่มีในปีพ.ศ. 2483 กับในปีพ.ศ. 2534
ดร.โทมัสแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียปริมาณแร่ธาตุสารอาหารจำนวนมากในอาหารทุกกลุ่มที่ทำการตรวจสอบ



สิ่งพิมพ์เพื่อความรู้: The Power of The Plate: กรณีของเกษตรอินทรีย์ปฏิรูปดินและการฟื้นฟูสุขภาพของมนุษย์ ออกโดย: RODALE Institute, ปีที่พิมพ์: 2020


สิ่งพิมพ์เพื่อความรู้: Why would a sane society support ecologically destructive food production when it isn't necessary? สังคมที่คนมีสติปัญญาไม่มีเหตุผลที่จะยังคงสนับสนุนการผลิตอาหารที่ทำลายระบบนิเวศน์ทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็น? ออกโดย: New Foundations Farms, ปีที่พิมพ์: มิถุนายน 2020


ต่อสู้กับวิกฤตภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง - "ใช้ดินเพื่อกักเก็บคาร์บอนในบรรยากาศ"


ดินคือแหล่งของคาร์บอนของโลก ดินสามารถคาย CO2 จำนวนมหาศาลออกสู่ชั้นบรรยากาศทำให้เกิดวิกฤตโลกร้อน หรือ ดูดซับและกักเก็บ CO2 จำนวนมหาศาลจากชั้นบรรยากาศลงสู่ดินและสร้างชีวิต ดินจะกักเก็บ CO2 หรือคาย CO2 นั้นขึ้นอยู่กับความสมดุลย์ซึ่งสามารถกำหนดได้โดยวิธีการจัดการผืนดินของมนุษย์


วงจรคาร์บอนในระบบนิเวศน์ที่มีประสิทธิภาพและความสมดุลย์มีวิวัฒนาการมายาวนาน (ดูดซับ กักเก็บ ถ่ายโอน ปล่อยคาย) สุขภาพของดิน สุขภาพชีวิตชีวาของพืชสัตว์และมนุษย์ ล้วนขึ้นอยู่กับการทำงานที่มีประสิทธิภาพของวงจรนี้


พัฒนาการทางเทคโนโลยีนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ผลิตเครื่องจักรที่สามารถสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งคือคาร์บอนจำนวนมหาศาลจากใต้พื้นผิวโลกและปล่อยออกสู่บรรยากาศ รวมทั้งเครื่องจักรกลที่สามารถทำลายหน้าดินขนาดใหญ่รวมทั้งพืชคลุมดินและต้นไม้น้อยใหญ่ ด้วยปัจจัยเหล่านี้รวมกัน จึงส่งผลให้ปริมาณ CO2 จำนวนมหาศาลเพิ่มขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ในขณะเดียวกันเราก็ทำลายดินซึ่งเป็นอ่างกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดทั้งๆที่มนุษย์สามารถควบคุมได้ ความเสื่อมโทรมของสภาพดินได้ทวีความเสียหายจากภาวะเรือนกระจกและระบบนิเวศน์ (CO2 รวมทั้งก๊าซที่เป็นพิษอื่นๆที่มนุษย์ปล่อยออกสู่บรรยากาศ) เนื่องจากวงจรคาร์บอนของโลกเสียสมดุลย์อย่างหนัก


ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา ดินที่สำคัญสำหรับการเกษตรหลายแห่งของโลกได้สูญเสียคาร์บอนในดินไประหว่าง 30% ถึง 75% โดยไปเพิ่ม CO2 หลายพันล้านตันให้กับชั้นบรรยากาศ การสูญเสียคาร์บอนในดินได้ลดศักยภาพของดิน ลดผลผลิต และลดความสามารถในการทำกำไรของเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญ ความเสื่อมโทรมของดินทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 30% ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลกโดยประมาณได้ถูกทิ้งร้างในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการเสื่อมโทรมถดถอยของดินลงไปเรื่อยๆ จำนวนประชากรทั่วโลกถูกคาดการณ์ว่าจะสูงสุดใกล้ถึง 10 พันล้านคน ในปี 2593 ดังนั้นความจำเป็นในการฟื้นฟูดินจึงเป็นเรื่องที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนในช่วงอายุขัยของเรา


สิ่งพิมพ์เพื่อความรู้: Regenerative Organic Agriculture and Climate Change:เกษตรอินทรีย์ปฏิรูปและการต่อสู้ภาวะโลกร้อน วิธีแก้ปัญหาโลกร้อนแบบ down to earth ออกโดย: RODALE Institute ปีที่พิมพ์: 2020


หลัก 5 ประการสำหรับการฟื้นฟูดิน


สิ่งพิมพ์เพื่อความรู้: Five Principles for Soil Restoration: การทำฟาร์มด้วยแสง: การฟื้นฟูคาร์บอน ไนโตรเจนอินทรีย์ และความหลากหลายทางชีวภาพให้กับดินทางการเกษตร ออกโดย Christine Jones, PhD


1. ให้เขียวไว้ดี ยิ่งเขียวทั้งปียิ่งดี

พืชคือโรงงานสีเขียว โรงงานทุกแห่งเป็นปั๊มคาร์บอนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทุกๆปีการสังเคราะห์แสงจะดึงเอา CO2 จากชั้นบรรยากาศลงไปสู่ดินได้หลายแสนล้านตัน พืชสีเขียวเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่เรามีเพื่อการฟื้นฟูดินและ การลดระดับ CO2 ในชั้นบรรยากาศ กำลังในการสังเคราะห์แสง (Photosynthetic capacity) และ อัตราการสังเคราะห์แสง (Photosynthetic rate) ของพืชเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นฟูคาร์บอนในดินที่มีความเสถียร


2. จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตในดินสำคัญมาก!!

จุลินทรีย์ขนาดเล็กในดินอาศัยลิควิดคาร์บอนจากรากของพืชเป็นอาหาร และปกป้องโฮสต์ของพวกเขาจากศัตรูพืชและ โรคต่างๆเป็นการแลกเปลี่ยนโดยขนส่งแร่ธาตุสารอาหาร เช่น ไนโตรเจนอินทรีย์ ฟอสฟอรัส กำมะถัน โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็กและธาตุ ได้แก่ทองแดง โคบอลต์ สังกะสี โมลิบดีนัม แมงกานีสและโบรอน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จำเป็นสำหรับความต้านทานต่อศัตรูพืชและโรค และความทนของพืชต่อสภาพอากาศที่รุนแรง เช่นความแห้งแล้ง น้ำขัง เป็นต้น


3. ความหลากหลายจะต้องมี!!!

พืชแต่ละชนิดสร้างสารประกอบของน้ำตาล เอนไซม์ ฟีนอล กรดอะมิโน กรดนิวคลีอิก สารประกอบทางชีวภาพอื่นๆ ด้วยส่วนผสมที่แตกต่างกันไป สารหลายชนิดทำหน้าที่เป็นสัญญาณสื่อสารไปยังจุลินทรีย์ในดินผ่านทางราก ยิ่งมีความหลากหลายของพืชมากขึ้น ความหลากหลายของจุลินทรีย์และดินที่แข็งแรงก็มีมากขึ้น


ความเชื่อที่ว่าการปลูกพืชชนิดเดียวให้ผลกำไรมากกว่าการปลูกพืชที่ความหลากหลายไม่ได้เป็นเช่นนั้นในเชิงปฏิบัติ การปลูกพืชชนิดเดียวต้องอาศัยสารเคมีมาสนับสนุนอย่างมากและมักจะเพิ่มระดับไปเรื่อยๆ ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าเชื้อรา ยาฆ่าแมลงและสารเคมีอื่น ๆ เพื่อยับยั้งกิจกรรมทางชีวภาพในดิน ผลที่ตามมาคือการใช้จ่ายด้านเคมีเกษตรมากขึ้นเพื่อพยายามที่จะควบคุมศัตรูพืช วัชพืช โรคและปัญหาที่ตามมา การปลูกพืชหลากหลายไม่จำเป็นต้องทำให้ซับซ้อน สามารถทำได้ง่ายๆโดยการมีพืชที่ปลูกหนึ่งหรือสองชนิดร่วมกันกับพืชที่ปลูกไว้สร้างผลกำไรก็สามารถแห่งความแตกต่างให้กับคุณภาพดินได้แล้ว


4. จำกัดการใช้สารเคมี

วงจรแร่ธาตุโดยธรรมชาติจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อดินกลับมามีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น จุลินทรีย์ไมคอร์ไรซาสามารถผลิตไนโตรเจนและฟอสฟอรัสอินทรีย์ให้พืชได้ถึง 90% ของความต้องการ เมื่อดินกลับมามีชีวิต ความต้องการปุ๋ยสังเคราะห์และสารเคมีอื่นๆก็ควรจะลดลงเพื่อปล่อยให้จุลินทรีย์ทำงานที่เค้าทำถนัดได้ดีที่สุด


ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจคิดได้ว่า ทำไมเราจึงใช้เวลานานมากกว่าที่จะเข้าใจว่าการพยายามปลูกพืชลงไปในดินที่ไม่สมบูรณ์โดยพึ่งปัจจัยจากสารเคมีสังเคราะห์ที่มีราคาแพงและต้องใช้มากขึ้นเรื่อยๆนั้นไร้ประโยชน์และไม่สร้างผลกำไร ไม่มีปุ๋ย NPK จำนวนใดที่สามารถชดเชยให้สภาพดินแข็งแรงและมีความสามารถในการการอุ้มน้ำได้ อันที่จริงการใส่ปุ๋ยเคมีมากขึ้นมักจะทำให้สิ่งต่างๆแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนอนินทรีย์ (N) และฟอสฟอรัสอนินทรีย์ (P) ซึ่งมักถูกมองข้าม ผลที่ตามมาของการใช้ N และ P ในอัตราที่สูงคือพืชไม่จำเป็นต้องมีช่องทางแลกเปลี่ยนกับชุมชนจุลินทรีย์ในดินเพื่อให้ได้องค์ประกอบที่จำเป็นเหล่านี้อีกต่อไป ดังนั้นพืชจึงขาดการได้มาซึ่งแร่ธาตุและสารอาหารที่สำคัญ เพิ่มความอ่อนแอของพืชต่อศัตรูพืชและโรคต่างๆ การหดหายของแร่ธาตุสารอาหารในพืชส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพและภูมิคุ้มกันในมนุษย์และสัตว์ที่อ่อนแอลงในปัจจุบัน


5. นำสัตว์เข้ามาประกอบ

สัตว์มากมายหลายชนิดมีปฏิสัมพันธ์กับผืนดินก่อนที่จะมนุษย์เริ่มทำการเกษตร การดำรงอยู่ของสัตว์นั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับสุขภาพของดินและสุขภาพของสัตว์ วิธีการจัดการปศุสัตว์มีผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของดิน ยกตัวอย่างเช่น ไม่่ควรปล่อยให้สัตว์เล็มหญ้าจนเหี้ยนเตียนต่อครั้ง (ควรให้เหลือพื้นที่ความสูงของใบหญ้าไม่ให้ต่ำกว่า 50% ต่อการเล็มหนึ่งครั้ง) การรักษาพื้นที่ใบสีเขียวให้เพียงพอช่วยลดผลกระทบต่อความสามารถในการสังเคราะห์แสงของพืชจึงช่วยให้พืชสามารถฟื้นฟูชีวมวลได้อย่างรวดเร็วไปสู่ระดับก่อนถูกเล็ม นั่นคือทำให้มีอาหารให้สัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการกักเก็บคาร์บอนและความชื้นไว้ในดินที่มากขึ้น



สารคดี


ทำไมต้อง Regenerative Organic? ตอนที่ 1: ความทรุดโทรมของระบบเกษตรอุตสาหกรรม

ตอนที่ 1 ของซีรีส์วิดีโอ: ผลิตโดย Patagonia



ทำไมต้อง Regenerative Organic? ตอนที่ 2: ดินคือคำตอบ

ตอนที่ 2 ของซีรีส์วิดีโอ: ผลิตโดย Patagonia



Kiss the Ground : Trailer